บทความ วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย

บทความ  วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย


     วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอายุ  3 – 6  ขวบ  มิได้หมายถึงสาระทางชีววิทยา  เคมี  กลศาสตร์  แต่เนื้อหาวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยคือ  สาระเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เด็กควรรู้  การเรียนการสอนมุ่งเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจมากกว่าที่จะจำเป็นองค์ความรู้  การเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยแตกต่างจากเด็กวัยอื่นที่เด็กปฐมวัยมีการเจริญของสมองที่รวดเร็วและต้องการการกระตุ้นเพื่อการงอกงามของใยสมองในช่วงปฐมวัย  แต่ขณะเดียวกันพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก  อายุ  2 – 6  ขวบ  ยังเป็นช่วงก่อนปฏิบัติการ  (pre – operative  stage)  เด็กเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง  (self - centered)  และมองสิ่งรอบตัวโดยเน้นที่ตัวของเด็กเอง  เด็กจะรับรู้และคิดถ่ายโยงเป็นทิศทางเดียวไม่ซับซ้อน  เช่น  รู้สี  รู้รูปร่าง  โดยรู้ทีละอย่าง  จะเรียนรู้สองอย่างพร้อมกันไม่ได้  หรือเอามาผนวกกันไม่ได้  ซึ่งการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนเพื่อฝึกเด็กให้บูรณาการข้อความรู้ต่าง ๆ  เข้าด้วยกันโดยให้เด็กรู้จักสังเกต  ค้นหา  ให้เหตุผล  หรือทดลองด้วยตนเอง  ด้วยเหตุนี้การเรียนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องเริ่มจากทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์  ได้แก่  การสังเกต  การค้นคว้าหาคำตอบ  การให้เหตุผล  ตามด้วยการเรียนทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์  และความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กโดยใช้ประสบการณ์จริงและการทดลองปฏิบัติ  เช่น  การเรียนรู้การเจริญเติบโตของพืชด้วยการทดลองปลูกพืช  สังเกตความสูงของพืช  และการงอกงามของพืช  เป็นต้น
       การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นการสอนข้อความรู้  ซึ่งต่างจากการสอนให้รู้ข้อความรู้ตรงที่การสอนข้อความรู้ต้องการความสนใจ  การสังเกต  การจำ  และการเรียกความจำจากความเข้าใจถ่ายโยงได้  ไม่ใช่การท่องจำซึ่งตรงกับการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เป็นการเรียนรู้จากการให้คิดและมีเหตุผล  เกิดการเข้าใจมโนทัศน์  เชื่อสานข้อมูลประยุกต์  และสรุปเป็นข้อความรู้ได้ด้วยตนเอง  ซึ่งในการเรียนวิทยาศาสตร์เด็กต้องพัฒนาทักษะการคิดเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปให้ได้  ตัวอย่าง  เช่น  เด็กเรียนเรื่องเต่ากับหนู  โดยการศึกษาเปรียบเทียบ  ค้นหาข้อแตกต่างและข้อเหมือน  และนำไปสู่ข้อสรุปว่า  เต่ามีลักษณะอย่างไร  หนูมีลักษณะอย่างไร  (Hendrick,  1998  :  42)  ดังนั้นการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยจึงมิใช่การสอนให้รู้ข้อความรู้  เพราะเด็กไม่สามารถรับความรู้นามธรรมได้  เด็กปฐมวัยต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากประสบการณ์
      การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและธรรมชาติเป็นสาระหลักสำหรับเด็กปฐมวัยในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ดร.ดินา  สตาเคิล  (Dina  Stachel)  ของมหาวิทยาลัยเทอาวีพ  ประเทศอิสราเอล  ได้พัฒนาโปรแกรมมาทาลขึ้น  เพื่อใช้ในการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย  โดยเน้นให้เด็กมีความสนุกกับการเรียน  รู้จักสร้างสรรค์และคิดสร้างสรรค์  สาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กเรียนจำแนกเป็น  4  หน่วย  ดังนี้  (สตาเคิล,  2542  :  12)
                        หน่วยที่  1     การสังเกตโลกรอบตัว
                        หน่วยที่  2     การรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการเรียนรู้
                        หน่วยที่  3     รู้ทรงและสิ่งที่เกี่ยวข้อง
                        หน่วยที่  4     การจัดหมู่และการจำแนกประเภท
          ในการเรียนหน่วยวิทยาศาสตร์ทั้ง  4  หน่วยดังกล่าว  เด็กต้องใช้ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์  ได้แก่  ทักษะการสังเกต  การจำแนกประเภท  การสื่อความหมายและทักษะการลงความเห็นการเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การเปรียบเทียบมิติเดียวเหมือนอย่างเช่นคณิตศาสตร์  แต่การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปคำตอบ  ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวได้  หากครูจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก
ทักษะพื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
         การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล  ซึ่งเรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้โดยครูกับเด็กช่วยกันคิดและปฏิบัติเป็นกระบวนการเริ่มจากขั้นที่  1  ถึงขั้นที่  5  ดังนี้
                ขั้นที่  1  กำหนดขอบเขตของปัญหา  ครูกับเด็กร่วมกันคิดตั้งประเด็นปัญหาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น  ต้นไม้โตได้อย่างไร
                ขั้นที่  2  ตั้งสมมุติฐาน  เป็นขั้นของการวางแผนร่วมกัน  ในการที่จะทดลองหาคำตอบจากการคาดเดาล่วงหน้าว่า  ถ้า.......จะเกิด......เป็นต้น
                ขั้นที่  3  ทดลองและเก็บข้อมูล  เป็นขั้นตอนที่ครูกับเด็กร่วมกันดำเนินการตามแผนการทดลองตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ในข้อ  2
                ขั้นที่  4  วิเคราะห์ข้อมูล  ครูและเด็กนำผลการทดลองมาสนทนา อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เช่น  ทำไมต้นไม้ปลูกพร้อมกันจึงโตไม่เท่ากัน
                ขั้นที่  5  สรุปผลคำตอบสมมุติฐาน  ว่าผลที่เกิดคืออะไร  เพราะอะไร  ทำไม  ถ้าเด็กต้องการศึกษาต่อจะกลับมาเรียนขั้นที่  1  ใหม่  แล้วต่อเนื่องไปถึงขั้นที่  5  เป็นวงจรของการขยายการเรียนรู้
                กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง  5  ขั้น  เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเป็นวัฏจักร  ทักษะพื้นฐานที่ต้องนำมาใช้ในกระบวนการ คือ  การสังเกต  การจำแนกและเปรียบเทียบ  การวัด  การสื่อสาร  การทดลอง  การสรุปและการนำไปใช้ (Brewer,  1995  :  288 - 290)
                การสังเกต  ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกตใช้เทคนิคการสังเกตเป็น  เด็กต้องได้รับการสอนให้รู้จักสังเกตปรากฏการณ์หรือการกระทำอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วน  จากการสังเกตนอกจากการใช้ ตาดู เด็กอาจต้องใช้หูฟัง  จมูกดมกลิ่น  ลิ้นชิมรส  กายสัมผัสหรือรับความรู้สึก หรือใช้ทุกอย่างร่วมกัน
                การจำแนกเปรียบเทียบ  การจำแนกเป็นทักษะพื้นฐานที่ใช้ในการจัดระเบียบข้อมูล  ซึ่งในการจำแนกนี้เด็กต้องสามารถเปรียบเทียบและบอกข้อแตกต่างของคุณสมบัติ  ถ้าเด็กเล็กมาก  เด็กอาจจำแนกสีหรือจำแนกรูปร่างได้  การจำแนกหรือเปรียบเทียบสำหรับเด็กปฐมวัย  ต้องใช้คุณสมบัติหยาบ ๆ  เห็นรูปธรรมเด็กจึงจะทำได้
                การวัด  การวัดเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลและตัดสินเพื่อบอกว่าขนาด  ปริมาณของสิ่งที่เห็นคืออะไร  เด็กปฐมวัยจึงใช้การวัดเป็นการเปรียบเทียบเชิงปริมาณโดยสามารถใช้เครื่องมือวัดอย่างหยาบได้  สามารถบอกมาก-น้อยกว่ากันได้
                การสื่อสาร  ทักษะการสื่อสารจำเป็นมากในกระบวนการวิทยาศาสตร์  เพราะการสื่อสารเป็นทางบอกว่าเด็กได้ สังเกต  จำแนก  เปรียบเทียบ  หรือวัด  เป็นหรือไม่  เข้าใจข้อมูลหรือสิ่งที่ศึกษาในระดับใด  ด้วยการกระตุ้นให้เด็กแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  อภิปรายข้อค้นพบ  บอก และบันทึกสิ่งที่พบ
                การทดลอง  เด็กปฐมวัยเป็นนักทดลองมาโดยกำเนิด  เช่น  การรื้อค้น  การกระแทก  การทุบ  การโยนสิ่งของหรือการเล่น จากการเล่นเป็นการเรียนรู้  ซึ่งมักเป็นการทดลองแบบลองผิดลองถูก  แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะถูกจัดระเบียบมากขึ้น  มีการควบคุมให้เด็กทำอย่างมีระเบียบวิธี  มีการสังเกตอย่างมีความหมาย  เช่น  การทดลองการกระจายของหยดสีในน้ำที่มีความเข้มข้นไม่เท่ากัน  เด็กจะสังเกตเห็นสีสด  สีจาง  ต่างกัน
                การสรุปและการนำไปใช้  เด็กปฐมวัยมีความสามารถสรุปได้เฉพาะข้อมูลเชิงประจักษ์  เด็กสามารถบอกว่าอะไรเกิดขึ้น  สาเหตุใด  มีผลอย่างไร  แต่เป็นไปตามสายตาที่เห็นเป็นรูปธรรมเท่านั้น  ซึ่งการทดลองวิทยาศาสตร์  ทำให้เด็กเห็นจริงกับตา  สัมผัสกับมือ  เด็กจะบอกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น  การได้ฝึกทักษะอย่างเป็นกระบวนการจะทำให้เด็กสามารถบอกได้ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร  หรือนำไปใช้แก้ปัญหาอย่างไรได้ด้วย
 เป้าหมายของการเรียนวิทยาศาสตร์
          เด็กปฐมวัยเรียนวิทยาศาสตร์ในแง่ของทักษะพื้นฐาน  กระบวนการและสาระวิทยาศาสตร์เบื้องต้น  เป้าหมายสำคัญของการเรียน  คือ  (Brewer,  1995  :  290)
                1.  ให้เด็กได้ค้นคว้าและสืบค้นสิ่งต่าง ๆ  และปรากฏการณ์ที่มี
                2.  ให้เด็กได้ใช้กระบวนการทักษะทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
                3.  กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น  ความสนใจ  และเจตคติของเด็กด้วยการค้นให้พบ
                4.  ช่วยให้เด็กค้นหาข้อมูลความรู้บางอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันและการสืบค้นของตัวเด็ก
                การเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยเป็นการเรียนเพื่อสร้างเสริมนิสัยการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการ  ส่งเสริมให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ  และศึกษาสิ่งต่าง ๆ  ด้วยการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นสิ่งกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้  และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก  (ประสาท  เนืองเฉลิม,  2545  :  20 - 26)  ในขณะเดียวกัน  กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทำให้เด็กได้พัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์และได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากสิ่งที่เด็กได้สัมผัสด้วย
 สาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กต้องเรียน
          ดังกล่าวแล้วว่าเด็กปฐมวัยเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์  การเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  และสาระวิทยาศาสตร์  ซึ่งสาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กปฐมวัยเรียนประกอบด้วยสาระต่าง ๆ  ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ดังนี้
                1.  สาระเกี่ยวกับพืช  ได้แก่  พืช  เรื่องที่นำมาเรียนได้แก่  ต้นไม้  ดอกไม้  ผลไม้  การปลูกพืช  การใช้ประโยชน์จากพืช
               2.  สาระเกี่ยวกับสัตว์  ได้แก่  ประเภทของสัตว์  สวนสัตว์  การเลี้ยงสัตว์
               3.  สาระเกี่ยวกับฟิสิกส์  เช่น  การจม  การลอย  ความร้อน  ความเย็น
               4.  สาระเกี่ยวกับเคมี  ได้แก่  รสผลไม้  การละลายของน้ำแข็ง
               5.  สาระเกี่ยวกับธรณีวิทยา  ได้แก่  ดิน  ทราย  หิน  ภูเขา
               6.  สาระเกี่ยวกับดาราศาสตร์  ได้แก่  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดาว  ฤดูกาล
                หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546  ได้กำหนดสาระทางวิทยาศาสตร์ไว้ในหลักสูตร  เรียกว่า  ธรรมชาติรอบตัว  โดยกำหนดให้เด็กเรียน  สิ่งมีชีวิต  สิ่งไม่มีชีวิต  รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ  เช่น  ฤดูกาล  กลางวัน  กลางคืน  ฯลฯ
 หลักการจัดกิจกรรม
        ประสบการณ์วิทยาศาสตร์เป็นการสร้างเด็กให้เรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์  หลักการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กที่สำคัญมีดังนี้  (Seefeldt,  1980  :  236)
                1.  เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก  ประสบการณ์ที่เลือกมาจัดให้แก่เด็ก  ควรเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก  โดยใกล้ทั้งเวลา  เหมาะสมกับพัฒนาการ  ความสนใจและประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็ก
                2.  เอื้ออำนวยให้แก่เด็กได้กระทำตามธรรมชาติของเด็ก  เด็กมีธรรมชาติที่ชอบสำรวจ  ตรวจค้น  กระฉับกระเฉง  หยิบโน่นจับนี่  จึงควรจัดประสบการณ์ที่ใช้ธรรมชาติในการแสวงหาความรู้
                3.  เด็กต้องการและสนใจ  ประสบการณ์ที่จัดให้เด็กต้องสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและอยู่ในความสนใจของเด็ก  ดังนั้นหากบังเอิญมีเหตุการณ์ที่เด็กสนใจเกิดขึ้นในชั้นเรียน  ครูควรถือโอกาสนำเหตุการณ์นั้นมาเป็นประโยชน์ในการจัดประสบการณ์ที่สัมพันธ์กันในทันที
                4.  ไม่ซับซ้อน  ประสบการณ์ที่จัดให้นั้นไม่ควรเป็นประสบการณ์ที่มีเนื้อหาซับซ้อน  แต่ควรเป็นประสบการณ์ที่มีเนื้อหาเป็นส่วนเล็ก ๆ  และจัดให้เด็กทีละส่วน  ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กส่วนใหญ่จะเป็นพื้นฐานความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา  ทั้งนี้พื้นฐานต้องเริ่มจากระดับง่ายไม่ซับซ้อนไปสู่ระดับของการสำรวจตรวจค้น  และระดับของการทดลอง  ซึ่งเป็นระดับที่สร้างความเข้าใจมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์
                5.  สมดุล  ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดให้เด็กควรมีความสมดุล  ทั้งนี้เพราะเด็ก  ต้องการประสบการณ์ในทุกสาขาของวิทยาศาสตร์  เพื่อจะได้พัฒนาในทุก ๆ  ด้าน  ซึ่งแม้ว่าเด็กจะสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต  ได้แก่  พืชและสัตว์  ครูก็ควรจัดประสบการณ์หรือแนะนำให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ
         กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจวิทยาศาสตร์  พัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้  เกิดความคิดสร้างสรรค์  เกิดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น  หลักการจัดกิจกรรมมีอย่างน้อย  5  ประการ  ดังนี้  (ประสาท  เนืองเฉลิม,  2546 : 28)
                        1.  มีการกำหนดจุดประสงค์อย่างชัดเจน
                        2.  ครูเป็นผู้กำกับให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
                        3.  กิจกรรมที่จัดขึ้นสนองตอบความสนใจของเด็ก
                        4.  สอดคล้องกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน
                        5.  กิจกรรมที่จัดต้องส่งเสริมให้เด็กมีภาวะสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการคิดของเด็ก
                กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องเป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมการเรียนรู้  และพัฒนาปัญญาด้วยความสนุก  เด็กต้องได้ปฏิบัติจริงและเป็นไปได้  เด็กควรเรียนรู้จากปรากฏการณ์ธรรมชาติจริงที่มีความเป็นไปได้  เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัสและการกระทำ  การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นการเรียนรู้โดยการลงมือทำงาน  เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ผู้เรียนได้ทบทวนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง  เกิดจากมุมมองจากการได้สัมผัส  ได้รับรู้ประสบการณ์ของตน  ประสบการณ์นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า  กระตุ้นให้เกิดการคิดและการเรียนรู้  (Burnard,  1996  :  15 - 19)  การให้เด็กทำกิจกรรมเป็นการเสริมสัมผัสและการเรียนรู้ของเด็ก  การพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่สำคัญต้องเน้นการคิด  การแก้ปัญหา  การแสดงออกถึงพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของเด็ก  ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรม  ต่อไปนี้
                 มีความสนใจเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ  รอบตัว
                 มีความอยากรู้อยากเห็น
                 มีพัฒนาการทางภาษาอย่างมาก
                 มีความสนใจค้นคว้าสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เด็กสัมผัส
 ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้
                กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  สามารถบูรณาการไปกับกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ศิลปะ  และภาษา  หรือนำกิจกรรมอื่น ๆ  มาประสานด้วยได้  ข้อสำคัญต้องให้เด็กได้เรียนรู้จากการสังเกตและทดลอง  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ  3 – 4  ขวบ
                Ÿ  สังเกตสัตว์เลี้ยง  โดยให้เด็กไปดูปลา  สัมผัสแมว  ได้ลูบหมา
                Ÿ  สังเกตพืช  จำแนกส่วนประกอบของพืช  ส่วนประกอบของผลไม้  สังเกตดอกไม้  และใบไม้
                Ÿ  สังเกตรังของสัตว์ต่าง ๆ
                Ÿ  ทดลองเลี้ยงสัตว์  ให้อาหารสัตว์
                Ÿ  สังเกตสัตว์ในธรรมชาติ  เช่น  ดูนก  ดูผีเสื้อ ดูแมลง
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ  5 – 6  ขวบ
                กิจกรรมสำหรับเด็กวัยนี้ให้มีการทดลองได้  เด็กสามารถเข้าใจมากขึ้น  รวบรวมข้อมูลเป็น  สรุปเป็น  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของกิจกรรม
                Ÿ  จำแนกเมล็ดพืช  จำแนกใบไม้  จำแนกสิ่งต่าง ๆ  ที่หาได้
                Ÿ  สังเกตสัตว์เลี้ยง  เพื่ออธิบายลักษณะ  นิสัย  หรือวิธีการดูแล
                Ÿ  สังเกตธรรมชาติ  เช่น  กลางวัน  กลางคืน  อุณหภูมิ
                Ÿ  สังเกตการงอกของต้นไม้
                Ÿ  ทำสวนครัว  ปลูกต้นไม้
                Ÿ  ศึกษาวงจรชีวิตสัตว์ต่าง ๆ  เช่น  ตัวไหม  ผีเสื้อ  กบ
                Ÿ  ดูการฝักไข่  เก็บไข่  การปลูกเห็ด  เก็บผลไม้ต่าง ๆ 
ประโยชน์จากการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
                พัฒนาการทางปัญญาเป็นความสามารถทางสมองในการรวบรวมประสบการณ์และความรู้มาเป็นพื้นฐานของการคิดเหตุผล  ช่วยให้เกิดความรู้  ความเข้าใจ  สามารถแก้ปัญหาได้  และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ความสามารถเหล่านี้สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัยด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางปัญญา  การพัฒนาทางสติปัญญา  ไม่ใช่การเพิ่มระดับไอคิว  แต่การพัฒนาทางสติปัญญาเน้นการเพิ่มพัฒนาการทางสติปัญญาใน  2  ประการ  คือ
                1.  ศักยภาพทางปัญญา  คือ การสังเกต  การคิด  การแก้ปัญหา  การปรับตัว  และการใช้ภาษา
                2.  พุทธิปัญญา  คือ  ความรู้ความเข้าใจที่ใช้เป็นพื้นฐานของการขยายความรู้  การคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์  และประเมินเพื่อการพัฒนาการรู้การเข้าใจที่สูงขึ้น
          การเรียนวิทยาศาสตร์  เป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญา  และพุทธิปัญญา  จากการทำกิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์  สิ่งที่เด็กได้จากกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมีอย่างน้อย  4  ประการ  คือ
                1.  ความสามารถในการสังเกต  การจำแนก  การแจกแจง  การดู  ความเหมือน ความต่าง  ความสัมพันธ์
                2.  ความสามารถในการคิด  การคิดเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ของข้อมูลภาพ  และสิ่งที่พบเห็นเข้าด้วยกัน  เพื่อแปลตามข้อมูลหรือเชื่อมโยงข้ออ้างอิงที่พบไปสู่การประยุกต์ใช้ที่เหมาะสม  การคิดเป็นคือการคิดอย่างมีเหตุผล  โดยคำนึงถึงหลักวิชาการและบริบท
                3.  ความสามารถในการแก้ปัญหา  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นระหว่างการจัดกิจกรรม  เด็กจะได้เรียนรู้จากการค้นคว้าในการเรียนนั้น ๆ
                4.  การสรุปข้อความรู้  หรือมโนทัศน์จากการสังเกต  และการทดลองจริงสำหรับเป็นพื้นฐานความรู้ของการเรียนรู้ต่อเนื่อง
 ตัวอย่างแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
เรื่อง                                 การปรุงอาหาร
สำหรับ                             เด็กอายุ  5 – 6  ขวบ
มโนทัศน์การเรียนรู้            การปรุงอาหารเกิดจากการผสมส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างถูกต้องตามชื่ออาหารนั้นให้ได้รสที่ต้องการ
ผลลัพธ์การเรียนรู้              ปรุงอาหารเป็น รู้จักรสอาหาร  เช่น  เค็ม  เปรี้ยว  หวาน สนุกกับการทำงานร่วมกับเพื่อน
สิ่งที่เด็กต้องปฏิบัติ             ช่วยกันวางแผนปรุงอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งที่กลุ่มเลือก  และช่วยกันปรุงอาหารนั้น
อุปกรณ์ที่เตรียม                 เครื่องปรุง จาน ชาม  ช้อนสำหรับใส่อาหารเครื่องครัวเท่าที่ต้องการ
กิจกรรมการเรียนรู้
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
                Ÿ  ครูทักทายเด็ก  และสนทนาเรื่องอาหารการกิน
                Ÿ  ครูบอกกิจกรรมและจุดประสงค์ของกิจกรรม
ขั้นดำเนินการ
                1.  ครูให้เด็กช่วยกันเลือกอาหารที่ตนเองชอบและต้องการปรุง  (ครูอาจมีตัวเลือก  2 – 3  อย่าง  ที่เป็นอาหารกลุ่มเดียวกัน  เพื่อความสะดวกในการเตรียมเครื่องปรุง  เช่น ส้มตำ  สลัดผัก  แซนวิช  เป็นต้น)
                2.  ให้เด็กแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำ
                3.  เสร็จแล้วให้วางแผนร่วมมือกันพร้อมปรุงอาหารที่เลือก
                4.  แบ่งปันกลุ่มอื่นรับประทานอาหารร่วมกัน
ข้อสรุปบทเรียน
                1.  อภิปรายกลุ่มใหญ่เรื่องปัญหาการปรุงอาหารและการช่วยเหลือกัน
                2.  สรุปผลการปรุงอาหารว่าใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ใด
                3.  อาหารที่ปรุงมีรสอะไรบ้าง
การประเมินภาพการเรียนรู้
                Ÿ  สังเกตการตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
         ตัวอย่างกิจกรรมอาหาร  เป็นกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เด็กชอบมากเนื่องจากคุ้นเคยอยู่กับบ้านเป็นกิจวัตรที่เด็กทุกคนสนใจและต้องการทำ  ในการจัดกิจกรรมอาหารนี้  ควรใช้กลุ่มเล็ก  เพื่อความปลอดภัย  และสามารถสนทนาในรายละเอียดเวลารับประทานร่วมกัน  เด็กจะเกิดมโนทัศน์  เรื่องอาหาร  เช่น  ประโยชน์ของอาหารต่อร่างกาย  และเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามจุดประสงค์ของกิจกรรม  นอกจากนี้การรับประทานอาหารด้วยกันยังเป็นการฝึกให้เด็กช่วยตนเองในการรับประทานอาหาร  เช่น  ตักอาหาร  และทำอาหารง่าย ๆ
สรุป
         กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  เป็นการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมาย  2  ประการ  คือ  การฝึกทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ข้อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติรอบตัวที่เด็กพบในชีวิตประจำวัน  โดยเน้นการใช้ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์  คือ  1)  การสังเกต  2)  การจำแนกเปรียบเทียบ  3)  การวัด  4)  การสื่อสาร  5)  การทดลอง  และ  6)  การสรุปและนำไปใช้  สิ่งที่ได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์คือ  การสร้างให้เด็กมีนิสัยการค้นคว้า  การสืบค้น  และการทำความเข้าใจธรรมชาติรอบตัว  รู้จักวิธีการค้นหาความรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์  โดยการพัฒนาทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์  กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ในขณะเดียวกันเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวไปด้วย
แหล่งอ้างอิง
           
กุลยา  ตันติผลาชีวะ.  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย.  กรุงเทพฯ : เบรน-เบส บุ๊คส์, 2551
            http://www.karn.tv/c_science/tip_001.html#1


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 14

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่   14 การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย Science Experiences Management For Early Childhood      ...